วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

คำประสม

คำประสม
          การประสมคำเป็นการสร้างคำโดยนำคำมูลตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมาเรียงต่อกัน  ทำให้เกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่  โดยอาจมีเค้าความหมายเดิมหรือความหมายเปลี่ยนไปก็ได้
          1.  วิธีการประสมคำ  สามารถนำคำชนิดใดก็ได้ทั้ง 7 ชนิดมาประสมกัน  เมื่อประสมแล้วจะเกิดเป็นคำชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับความหมายและการใช้คำ  หรือขึ้นอยู่กับหน้าที่ของคำ  เช่น
                              คน (นาม) + ใช้ (กริยา)                    คนใช้ (นาม)
                              ตา (นาม) + ขวาง (กริยา)                 ตาขวาง (กริยา)
                              ห่อ (กริยา) + หมก (กริยา)                ห่อหมก (นาม)
                              ตก (กริยา) + ลง (กริยา)                   ตกลง (กริยา)
                              กัน (กริยา) + สาด (กริยา)                 กันสาด (นาม)
                              น้ำ (นาม) + แข็ง (วิเศษณ์)                น้ำแข็ง (นาม)
                    1.1  คำประสมที่เกิดจากคำไทยประสมคำไทย  เช่น
                              กล้วยไม้          ยางลบ          ลูกสูบ          ข้าวแช่
                              พ่อตา              แม่ยาย           ที่ราบ          อมยิ้ม
                              ของสูง            หมอความ      หมดตัว         ขายหน้า
                              กินที่                ต้มยำ             แกงส้ม         เบี้ยล่าง
                    1.2  คำประสมที่เกิดจากคำไทยประสมกับคำยืมจากต่างประเทศ  เช่น
                              ไทย + เขมร                    =  ของขลัง  นายตรวจ  ของโปรด  ป้อมตำรวจ
                              ไทย + จีน                       =  กินโต๊ะ  นายห้าง  ตีตั๋ว  หงายเก๋ง  บะหมี่แห้ง
                              ไทย + อังกฤษ                =  เรียงเบอร์  แทงก์น้ำ  น้ำก๊อก  แผ่นดิสก์  เตาไมโครเวฟ
                              ไทย + บาลีสันสกฤต       =  ผลไม้  ตักบาตร  พระพุทธเจ้า
                    1.3  คำประสมที่เกิดจากคำยืมภาษาต่างประเทศมาประสมกัน  เช่น
                              คำประสมที่เกิดจากภาษา  บาลี + อังกฤษ           รถเมล์  รถทัวร์  รถบัส
                              คำประสมที่เกิดจากภาษา  อังกฤษ + อังกฤษ      แท็กซี่มิเตอร์  เครดิตการ์ด  การ์ดโฟน
                              คำประสมที่เกิดจากภาษา  บาลี + บาลี                ผลผลิต  กลยุทธ์  วัตถุโบราณ
          2.  ความหมายของคำประสม  มีความหมาย 2 ลักษณะ  คือ
                    2.1  ความหมายใหม่  แต่ยังคงมีเค้าความหมายเดิม  เช่น
                              เตา + แก๊ส          =  เตาแก๊ส  หมายถึง  เตาหุงต้มที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง
                              เตา + ผิง             =  เตาที่ทำด้วยอิฐสำหรับก่อไฟผิงในหน้าหนาว
                              รถ + ไฟ              =  รถที่ใช้ไฟเป็นพลังงานขับเคลื่อน
                              น้ำ + แข็ง            =  น้ำที่แข็งเป็นก้อนด้วยกรรมวิธีอย่างหนึ่ง
                    2.2  ความหมายเปลี่ยนไปจากเดิม  เช่น
                              ขาย + หน้า          =  ขายหน้า  หมายถึง  รู้สึกอับอาย
                              แข็ง + ข้อ            =  แข็งข้อ  หมายถึง  คิดและกระทำการต่อต้าน
                              นาย + ท่า            =  นายท่า  หมายถึง  ผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการที่ท่าเรือ  ท่ารถ
                              ปาก + มาก          =  ปากมาก  หมายถึง  ชอบว่าคนอื่นซ้ำ ๆ ซาก ๆ หรือพูดมาก
          3.  ข้อสังเกตเกี่ยวกับคำประสม                    3.1  คำประสมมักจะทำหน้าที่เป็นคำนาม  คำกริยา  และคำวิเศษณ์  เช่น
                              คำนาม
                                        แม่          แม่ครัว  แม่มด  แม่น้ำ  แม่สื่อ  แม่นม  แม่พระ  แม่เหล็ก
                                        ลูก          ลูกน้ำ  ลูกเสือ  ลูกเล่น  ลูกไม้  ลูกน้อง  ลูกไล่  ลูกหิน
                                        น้ำ          น้ำหวาน  น้ำตา  น้ำพุ  น้ำตาล  น้ำเน่า  น้ำตก  น้ำครำ
                              คำกริยา
                                        ติด          ติดดิน  ติดตัว  ติดตา  ติดใจ  ติดลม  ติดปาก
                                        วาง          วางเฉย  วางท่า  วางตัว  วางใจ  วางยา  วางหน้า
                                        กิน           กินแรง  กินใจ  กินที่  กินโต๊ะ  กินเปล่า  กินดอง
                              คำวิเศษณ์
                                        ใจ           ใจจืด  ใจหาย  ใจดำ  ใจลอย  ใจดี  ใจร้าย  ใจแข็ง
                                        คอ           คออ่อน  คอแข็ง  คอตก
                                        ปาก         ปากหวาน  ปากตลาด  ปากปลาร้า  ปากร้าย
                    3.2  คำประสมที่เป็นคำนาม  คำกริยา  คำวิเศษณ์ไม่จำเป็นว่าคำแรกจะต้องเป็นคำนาม  คำกริยา  และวิเศษณ์เสมอไป  เช่น
                              คำนาม               
                                        คำแรกเป็นคำกริยา  คำตามเป็นคำนาม                    รอเท้า  บังตา  ยกทรง
                                        คำแรกเป็นคำกริยา  คำตามเป็นคำกริยา                   ต้มยำ  กันสาด  ห่อหมก
                    3.3  คำประสมจำนวนมากมีคำแรกซ้ำกันถือเป็นคำสั่ง  คำตั้งเหล่านี้มีคำต่าง ๆ มาช่วยเสริมความหมาย  เช่น
                              อาหาร        
                                        ขนม          ขนมหวาน  ขนมถ้วยฟู  ขนมครก  ขนมไข่
                                        แกง          แกงส้ม  แกงเผ็ด  แกงเขียวหวาน
                                        ไข่           ไข่เค็ม  ไข่ดาว  ไข่ยัดไส้  ไข่กระทะ
                              กิจกรรม
                                        ทำ            ทำครัว  ทำบุญ  ทำการบ้าน  ทำเวร  ทำงาน
                                        วิ่ง             วิ่งเปรี้ยว  วิ่งผลัด  วิ่งเร็ว  วิ่งทน  วิ่งวิบาก
                                        จัด            จัดซื้อ  จัดการ  จัดสรร  จัดจ้าง  จัดทำ
                              อุปนิสัยหรือลักษณะ
                                        หัว            หัวหมอ  หัวขี้เลื่อย  หัวขโมย  หัวก้าวหน้า
                                        ขี้               ขี้กลัว  ขี้ขลาด  ขี้คุย  ขี้ขโมย  ขี้โมโห
                                        ใจ             ใจแคบ  ใจใหญ่  ใจร้อน  ใจซื่อ  ใจร้าย
                    3.4  คำประสมจำนวนมากมักมีความหมายในเชิงอุปมา  เช่น
                                        หัวอ่อน          หมายถึง  ว่าง่าย  สอนง่าย
                                        ปากมาก         หมายถึง  ชอบว่าคนอื่นซ้ำ ๆ ซาก ๆ
                                        หักหนเา         หมายถึง  ทำหรือพูดโดยเจตนาให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความอับอาย
                                        ไก่อ่อน           หมายถึง  คนที่มีประสบการณ์น้อย  ยังรู้ไม่เท่าทันเลห์เหลี่ยมของคนอื่น
                                        ตีนแมว           หมายถึง  ผู้ร้าย  ขโมยที่ย่องได้เบาราวกับแมว
                                        หัวเรือใหญ่     หมายถึง  ผู้จัดการทุกอย่างให้ผู้อื่นด้วยตนเอง
                                        หน้าบาง         หมายถึง  มีความรู้สึกไวต่อสิ่งที่น่าละอาย
                                        ตาขาว            หมายถึง  แสดงอาการขลาดกลัว
                                        ปากตลาด       หมายถึง  ถ้วยคำที่โจษ  หรือเล่าลือกัน
                                        หน้าม้า           หมายถึง  ผู้ที่ทำเลห์เหลี่ยมเป็นเหมือนคนซื่อเพื่อจูงใจให้คนอื่นหลงเชื่อ
                    3.5  คำประสมบางคำเป็นได้ทั้งคำและกลุ่มคำ  ขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อม
                              กลุ่มคำ          แสงอาทิตย์ส่องสว่างในตอนเช้า
                              คำประสม       แสงอาทิตย์เป็นชื่อของงูที่มีอันตรายมาก
                              กลุ่มคำ          ลูกเสือที่ตัวเล็กที่สุดในฝูงมักจะถูกรังแกมากที่สุด
                              คำประสม       ลูกเสือทุกตัวจะต้องร่วมกิจกรรมรอบกองไฟ
         
                             

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
บุญลักษณ์  เอี่ยมสำอางค์  เกื้อกมล  พฤกษประมูล และโสภิต  พิทักษ์. ภาษาไทย  หลักการใช้ภาษาและการใช้ภาษา ม.4. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

คำเป็น คำตาย

คำเป็น  คำตาย
                คำเป็น  คำตาย  เป็นการจำแนกคำตามลักษณะที่ใช้ระยะเวลาออกเสียงต่างกัน  ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะทำให้คำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเป็นรูปเดียวกัน  มีเสียงวรรณยุกต์ต่างกัน  ตัวอย่างเช่น  คา  เป็นอักษรต่ำ  คำเป็น  พื้นเสียง*  เป็นเสียงสามัญ
ส่วน  คะ  เป็นอักษรต่ำคำตาย  เสียงสั้น  พื้นเสียงเป็นเสียงตรี
                คำเป็น  ได้แก่  คำที่มีลักษณะ  ดังต่อไปนี้
๑.   คำที่พยัญชนะประสมกับสระเสียงยาวในแม่  ก  กา  เช่น  มา  ดู  ปู  เวลา  ปี  ฯลฯ
๒.  คำที่พยัญชนะประสมกับสระ  –ำ    ใ -  ไ -  เ – า  เช่น  จำ  น้ำ  ใช่  เผ่า  เสา  ไป  ฯลฯ
๓.  คำที่มีตัวสะกดอยู่ในแม่  กง  กน  กม  เกย  เกอว  เช่น  จริง  กิน  กรรม  สาว  ฉุย  ฯลฯ
                คำตาย  ได้แก่  คำที่มีลักษณะ  ดังต่อไปนี้
๑.   คำที่พยัญชนะประสมกับสระเสียงสั้นในแม่  ก  กา  เช่น  กะทิ  เพราะ  ดุ  แคะ  ฯลฯ
๒.  คำที่มีตัวสะกดในแม่  กก  กบ  กด  เช่น  บทบาท  ลาภ  เมฆ  เลข  ธูป  ฯลฯ
 สรุป
                วิธีพิจารณา
                                ๑)    ให้สังเกตที่ตัวสะกดเป็นหลัก  ถ้าคำที่ต้องการพิจารณามีตัวสะกดให้ดูที่ตัวสะกดไม่ต้องคำนึงถึงสระเสียงสั้นยาว  ดูว่าคำนั้นมีตัวสะกดหรือไม่  ถ้ามีให้ขีดเส้นใต้ตัวสะกด
                                ๒)  ดูว่าตัวสะกดนั้นเป็น  กบด  หรือไม่  ( แม่  กก  กบ  กด )  ถ้าใช่  คำนั้นจะเป็นคำตาย  ถ้าไม่ใช่  กบด คำนั้นจะเป็นคำเป็น
                                ๓)  ในกรณีที่ไม่มีตัวสะกด  ให้ดูว่าคำนั้นประสมด้วยสระเสียงสั้น  หรือเสียงยาว  ถ้าอายุสั้น
( เสียงสั้น )  ต้องตาย  ถ้าอายุยาว  ( เสียงยาว )  จึงเป็น
กลวิธีในการจำคำเป็น  คำตาย
คำตาย
คำเป็น
-  พวกที่เป็น  กบด  ต้องตายก่อน  (สะกดด้วยแม่  กก  กบ  กด)
-  อายุสั้นต้องตายตาม  (ประสมด้วยสระเสียงสั้น)
-  สะกดด้วยแม่  กง  กน  กม  เกย  เกอว
-  อายุยาวเป็น  (ประสมด้วยสระเสียงยาว)

                ให้จำในส่วนของคำตายให้ได้เพราะจำง่าย  คือ  กบด  ต้องตายก่อน  และอายุสั้นต้องตายตาม  กล่าวคือ  สะกดด้วยแม่
กก  กบ  กด  (กรณีมีตัวสะกด)  และประสมด้วยสระเสียงสั้น  (กรณีไม่มีตัวสะกด)  เป็นคำตาย  นอกเหนือจากนี้เป็นคำเป็นทั้งหมด
                ***  ดังนั้นสรุปได้ว่า  คำที่ประสมด้วยสระ  –ำ    ใ -  ไ -  เ – า  เป็นคำเป็น  เพราะนับว่ามีตัวสะกด ในมาตรา แม่กม  แม่เกย และ แม่เกอว ตามลำดับ

* พื้นเสียง  หมายถึง  เสียงที่ปรากฏประจำคำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์  หากมีเสียงวรรณยุกต์ใด  ก็ถือว่าคำนั้นมีพื้นเสียงนั้น  เช่น  คา  ไม่มีรูป
วรรณยุกต์กำกับ  แต่มีเสียงวรรณยุกต์สามัญ  จึงนับว่า  คา  ซึ่งเป็นอักษรต่ำคำเป็น  มีพื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ

คำพ้องรูป-พ้องเเสียง

คำพ้อง คือ คำที่เขียนรูปหรือออกเสียงตรงกัน แต่ความหมายต่างกัน
คำพ้อง แบ่งเป็น ๓ ชนิด ดังนี้
๑. คำพ้องรูป
คำพ้องรูป คือ คำที่เขียนเหมือนกัน แต่อ่านออกเสียงต่างกัน และมีความหมายต่างกัน การอ่านคำพ้องรูปให้ถูกต้องควรดูข้อความอื่นๆ ประกอบด้วยว่าคำพ้องรูปนั้น หมายถึงอะไร เเล้วจึงอ่านให้ถูก
ตัวอย่าง คำพ้องรูป
ครุ อ่านว่า คฺรุ หมายถึง ภาชนะสานชนิดหนึ่ง
             คะ-รุ หมายถึง ครู, หนึ่ง
ปรามาส อ่านว่า ปฺรา-มาด หมายถึง ดูถูก
                    ปะ-รา-มาด อ่านว่า การจับต้อง การลูบคลำ
พยาธิ อ่านว่า พะ-ยา-ธิ หมายถึง ความเจ็บไข้
                 พะ-ยาด หมายถึง ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดหนึ่ง
เพลา อ่านว่า เพลา หมายถึง แกน, ดุมล้อ, เบาลง
                เพ-ลา หมายถึง เวลา
สระ อ่านว่า สะ หมายถึง แอ่งน้ำขนาดใหญ่, ชำระล้าง
              สะ-หระ หมายถึง อักษรแทนเสียงสระ
๒. คำพ้องเสียง คำพ้องเสียง คือ คำที่อ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่เขียนต่างกัน และมีความหมายต่างกัน
ตัวอย่าง คำพ้องเสียง
        เขี้ยวงู  เคี่ยวน้ำแกง  อ่านว่า เขี้ยว
        ซ่อมเเซม ช้อนส้อม  อ่านว่า  ส้อม
        คุณค่า ถูกฆ่า ข้าทาส  อ่านว่า  ค่า
        สัตว์เลี้ยง ซื่อสัตว์ อ่านว่า สัด

๓. คำพ้องทั้งรูปและเสียง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คำหลายความหมาย ซึ่งหมายถึง คำที่มีรูปเหมือนกัน อ่านออกเสียงอย่างเดียวกัน เเต่มีความหมายหลายอย่างเเล้วเเต่จะนำไปใช้
ตัวอย่าง คำพ้องทั้งรูปและเสียง
         คำว่า "ขัน" อ่านว่า ขัน หมายถึง   ๑. ภาชนะสำหรับตักหรือใส่น้ำ
                                                             ๒. ทำให้ตึงหรือเเน่นด้วยวิธีหมุนเข้าใป เช่น ขันนอต
                                                             ๓. อาการร้องเป็นเสียงอย่างหนึ่งของไก่
                                                             ๔. หัวเราะ รู้สึกตลก
         คำว่า "แกะ" อ่านว่า แกะ หมายถึง  ๑. ชื่อสัตว์ ๔ เท้า ประเภทหนึ่ง
                                                                 ๒. เอาเล็บมือค่อยๆ แกะ เพื่อให้หลุดออก
         คำว่า "เงาะ" อ่านว่า "เงาะ" หมายถึง  ๑. คนป่าพวกหนึ่ง รูปร่างเตี้ย ตัวดำ ผมหยิก
                                                                    ๒. ชื่อผลไม้ชนิดหนึ่ง
ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ. ภาษาไทย ป.4. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.

วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

กำเนิดลายสือไทย



                        พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ลายสือไทยหรือตัวหนังสือไทยขึ้นเมื่อมหาศักราช ๑๒๐๕ (พุทธศักราช ๑๘๒๖นับมาถึงพุทธศักราช ๒๕๒๖ ได้ ๗๐๐ ปีพอดี ในระยะเวลาดังกล่าว ชาติไทยได้สะสมความรู้ทั้งทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่าง ๆ และได้ถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นสืบต่อกันมา โดยอาศัยลายสือไทยของพรองค์ท่านเป็นส่วนใหญ่ ก่อนสมัยสุโขทัย ชาติไทยเคยรุ่งเรืองอยู่ที่ไหนอย่างไร ไม่มีหลักฐานยืนยันให้ทราบแน่ชัด แต่เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นแล้ว มีศิลาจารึกและพงศาวดารเหลืออยู่เป็นหลักฐานยืนยันว่า ชาติไทยเคยรุ่งเรืองมาอย่างไรบ้าในยุคสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ในโอกาสครบรอบ ๗๐๐ ปีนี้ คนไทยทุกคนจึงควรน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านโดยพร้อมเพรียงกัน
                        ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีข้อความปรากฎว่า เมื่อก่อนลานสืไทนี๋บ่มี ๑๒๐๕ สก ปีมแมพ่ขุนรามคํแหงหาใคร่ใจในใจแล่ใศ่ลายสืไทนี๋ สายสืไทนี๋ จี่งมีเพื่อขุนผู๋น๋นนใศ่ไว๋” หา แปลว่า ด้วยตนเอง (ไทยขาวยังใช้อยู่ใคร่ในใจ แปลว่า คำนึงในใจ (จากพจนานุกรมไทยอาหมข้อความที่อ้างถึงแสดงว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงประดิษฐ์ตัวหนังสือไทยแบบที่จารึกไว้ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ขึ้นเมื่อ พ.๑๘๒๖
                        ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ ได้กล่าวไว้ในตำนานอักษรไทย ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.๒๔๖๘ ว่า คำที่ใช้ในจารึกมีคำ  นี้ อยู่ต่อคำ ลายสือ ทุกแห่ง (สามแห่งหมายความว่า หนังสือไทยอย่างนี้ไม่มีอยู่ก่อน มิได้ประสงค์จะทรงแสดงว่า หนังสือของชนชาติไทยพึ่งมีขึ้นต่อเมื่อ พ.๑๘๒๖ เซเดส์ ยังเห็นว่า พวกไทยน้อยซึ่งมาอยู่ทางลำน้ำยม ชั้นแรกเห็นจะใช้อักษรไทยซึ่งได้แบบมาจากมอญ  (ตำนานอักษรไทย หน้า ๑ หน้า ๖ และหน้า ๑๑ต่อมาขอมมีอำนาจปกครองสุโขทัย พวกไทยคงจะศึกษาอักษรขอมหวัดที่ใช้ในทางราชการ แล้วจึงแปลอักษรเดิมของไทยมาเป็นรูปคล้ายตัวอักษรขอมหวัด ถ้าประสงค์จะสมมติว่าอักษรไทยเดิมเป็นอย่างไร ควรจะถือเอาอักษรอาหม (ใช้ในอัสสัมกับอักษรไทยน้อย (ใช้ในอีสานและประเทศลาวนี้เป็นหลัก นายฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้เขียนเรื่อง สันนิษฐานเทียบการเขียนอักษรไทยกับอักษรขอมในสมัยพ่อขุนรามคำหง” ไว้ และได้สันนิษฐานว่า อักษรพ่อขุนรามคำแหงทุกตัวดัดแปลงนาจากอักษรขอมหวัด
                        หนังสือจินดามณีเล่ม ๑ ของหอสมุดแห่งชาติเลขที่ 11 เป็นสมุดไทยดำ มีข้อคามเหมือนกับจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งนายขจร สุขพานิช ได้มาจากกรุงลอนดอน แต่คลาดเคลื่อนน้อยกว่า มีข้อความว่า อนึ่งมีในจดหมายแต่ก่อนว่า ศกราช ๖๔๕ มแมศก พญาร่วงเจ้า ได้เมืองศรีสัชนาไลยได้แต่งหนังสือไทย แล จ ได้แต่งรูปก็ดี แต่งแม่อักษรก็ดีมิได้ว่าไวแจ้ง อนึ่งแม่หนังสือแต่ ก กา กน ฯ,ฯ ถึงเกอยเมืองขอมก็แต่งมีอยู่แล้ว เห็นว่าพญาร่วงเจ้าจะแต่งแต่รูปอักษรไทย” แท้จริงพ่อขุนรามคำแหงมิได้ทรงแต่งแต่รูปอักษรไทยเท่านั้น แต่ยังได้ทรงเปลี่ยนอักษรวิธีการเขียนภาษาไทยให้ดีขึ้นกว่าเดินอีกปลายประการ ดังจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้านี้
มีหนังสือไทยเดิมก่อนลายสือไทยหรือไม่
                    ผู้เขียนเคยบรรยายไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ เมื่อ พ.๒๕๑๐ ว่า ถ้าลายสือไทยนี้บ่อมี หมายความว่า หนังสือไทยชนิดนี้ไม่มี แต่คงจะมีหนังสือไทยแบบอื่นอยู่ก่อนแล้ว ในจารึกหลักเดียวกันนี้ได้กล่าวถึงเมืองสุโขทัย ๑๔ ครั้ง ทุกครั้งใช้คำ เมืองสุโขทัยนี้ จะตีความว่า มีเมืองสุโขทัยอยู่ก่อนแล้ว แล้วจึงมาตั้งเมืองสุโขทัยขึ้นใหม่กระนั้นหรือ ผู้เขียนเห็นว่า นี้เป็นแต่คำชี้เฉพาะ ถ้าเทียบกับภาษาอังกฤษก็คงจะตรงกับ the เท่านั้น มิได้หมายความว่า this เพราะฉะนั้น ที่ว่า ลายสือไทยนี้บ่มี คงมิได้หมายความว่ามีลายสือไทยอื่นอยู่แล้ว แต่ผู้เขียนยอมรับว่าอาจจะมีหนังสือของไทยอาหมเกิดขึ้นทางอัสสัมในเวลาใกล้เคียงกับการก่อกำเนิดตัวหนังสือในสุโขทัยก็เป็นได้ (หนังสือรวมการบรรยายเรื่องตัวอักษรไทย หน้า ๕๕)
                        ประวัติไทยอาหมปรากฏอยู่ในหนังสือบูราณยี คำว่า ยี อาจจะตรงกับ สือ ในลายสือ หรือรากศัพท์เดียวกับ จื่อ ซึ่งใช้อยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน แปลว่า จดจำ เช่นได้จื่อจำไว้ บูราณยีบอกประวัติผู้ครองราชย์มาตั้งแต่ยุคที่นิยมแต่งตำนานเป็นเทพนิยายลงมา ศักราชแรกที่กล่าวถึง คือ พ.๑๗๓๓ ส่วนใหญ่เผ่าอื่นเริ่มมีประวัติเป็นหลักเป็นฐานไม่เก่าไปกว่ายุคไทยอาหม หากเก่ากว่านั้นขึ้นไป จะเป็นเรื่องเทพนิยายแบบพงศาวดารเหนือหรือตำนานเก่า ๆ ของเรา ซึ่งเกี่ยวกับปาฏิหาริย์เป็นส่วนมาก ประวัติศาสตจร์ไทยทุกเผ่ามาเริ่มจดเป็นหลักเป็นฐานในยุคพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่าตัวหนังสือไทยคงจะเกิดขึ้นต้นยุคสุโขทัยนี้เอง เมื่อมีตัวหนังสือใช้แล้วก็อาจจะจดเรื่องราวย้อนหลังขึ้นไปได้อีกสองสามชั่วคน
                        อีกประการหนึ่ง ไม่เคยมีผู้พบจารึกภาษาไทยก่อนยุคสุโขทัยขึ้นไปเลย จริงอยู่เป็นไปได้ว่า คนไทยอาจจะมีตัวอักษรอื่นใช้อยู่ก่อนแล้ว แต่เผอิญจารึกหายไปหมด หรืออาจจะเขียนไว้บนไม้ไผ่ หรือสิ่งอื่นที่ผุพังไปได้ง่ายก็เป็นได้ แต่ถ้ามีตัวอักษรอื่นอยู่ก่อนแล้ว ตัวอักษรแบบนั้นก็น่าจะปรากฏขึ้นที่ใดที่หนึ่ง เพราะดินแดนตั้งแต่อัสสัมถึงเวียดนามและจีนตอนใต้ถึงมลายูมีคนไทยอาศัยอยู่ทั่วไป ทำไมจึงไม่ปรากฏตัวอักษรแบบดังกล่าวเลย ไม่ว่าจะจารึกไว้ในรูปลักษณะใด ๆ ทั้งสิ้น
                        ตัวหนังสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแพร่หลายเข้าไปในล้านนา ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๖๒ วัดพระยืนว่า พระมหาสุมนเถรนำศาสนาพุทธนิกายรามัญวงศ์ หรือนิกายลังกาวงศ์เก่าเข้าไปในล้านนา เมื่อ พ.๑๙๑๒ และได้เขียนจารึกด้วยตัวหนังสือสุโขทัยไว้เมื่อ พ.๑๙๑๔ ต่อมาตัวหนังสือสุโขทัยนี้ได้เปลี่ยนรูปร่าง และอักขรวิธีไปบ้างกลายเป็นตัวหนังสือฝักขาม และล้านนายังใช้ตัวหนังสือชนิดนี้มาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์            
                        เชียงตุงและเมืองที่ใกล้เคียงในพม่ามีศิลาจารึกอักษรฝักขาม ซึ่งดัดแปลงไปจากลายสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอยู่กว่า10 หลัก เริ่มแต่ศิลาจารึกวัดป่าแดง พ.๑๙๙๔ เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีจารึกที่เจดีย์อานันทะในพุกามเขียนด้วยตัวหนังสือสุดขทัย ประมาณ พ.๑๙๑๐๑๙๔๐ อยู่หลักหนึ่ง
                        ในประเทศลาวมีจารึกเขียนไว้ที่ผนังถ้ำนางอันใกล้หลวงพระบางด้วยตัวอักษรสุโขทัย ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวหนังสือสมัยพระเจ้าลิไทย (.๑๘๙๐๑๙๑๑)
                        ไทยขาว ไทยดำ ไทยแดง เจ้าไทยในตังเกี๋ย ผู้ไทยในญวน และลาวปัจจุบันนี้ยังใช้ตัวอักษรที่กลายไปจากลายสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
                        ถ้าคนไทยมีตัวอักษรไทยเดิมอยู่แล้ว ก็คงจะไม่ยอมรับลายสือไทยเข้าไปใช้จนแพร่หลายกว้างขวางไปในหลายประเทศดังกล่าวมาแล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากของที่เคยชินแล้วทำได้ยากมาก เป็นต้นว่า เราเคยเขียนคำว่า น้ำ” บัดนี้ออกเสียเป็น น้าม” แต่ก็มิได้เปลี่ยนวิธีเขียนให้ตรงกับเสียง
                        ผู้เขียนเห็นว่า ในชั้นแรกเมื่อคนไทยมิได้เป็นชนชั้นปกครอง ก็จำเป็นจะต้องเรียนตัวหนังสือที่ทางราชการบ้านเมืองใช้อยู่ เพื่ออ่านประกาศของทางราชการให้เข้าใจ ถ้าจะประดิษฐ์ตัวหนังสือขึ้นใช้เอง จะไปบังคับใครให้มาเรียนหนังสือดังกล่าว เมื่อใดคนไทยได้เป็นชนชั้นปกครองขึ้น ก็น่าจะดัดแปลงตัวหนังสือ ที่ใช้กันอยู่ในถิ่นนั้นมาเป็นตัวหนังสือของไทย เช่น คนไทยในเมืองจีนคงดัดแปลงตัวหนังสือจีนมาใช้ คนไทยในล้านนาคงจะดัดแปลงตัวหนังสือมอญซึ่งนิยมใช้กันในถิ่นนี้มาก่อน ส่วนพ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็น่าจะดัดแปลงตัวหนังสือขอมซึ่งนิยมใช้กันอยู่แถวลุ่มน้ำเจ้าพระยามาแต่เดิม หากมีตัวอักษรไทยเดิมอยู่แล้ว พ่อขุนรามคำแหงมหาราชคงจะทรงใช้ตัวอักษรไทยเดิม หรือทรงดัดแปลงจากนั้นบ้างเล็กน้อยแทนที่จะดัดแปลงจากอักษรขอมเป็นส่วนใหญ่ แท้จริงนั้นมีเค้าเงื่อนอยู่ในพงศาวดารเหนือว่าพ่อขุนรามฯ ได้ทรงอาศัยนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่เชี่ยวชาญตัวหนังสือชาติต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงไทย ยกเว้นแต่จีนเพราะจีนใช้หลักการเขียนหนังสือเป็นรูปภาพผิดกับหลักการเขียนเป็นรูปพยัญชนะและสระแบบของไทย รูปอักษรของพ่อขุนรามคำแหงคล้ายตัวหนังสือลังกา บังคลาเทศ ขอม และเทวนาครี ฯลฯ เป็นต้นว่า ตัว จ ฉ หันหน้าไปคนละทางกับอักษรขอม แต่หันไปทางเดียวกับตัวอักษรลังกาที่มีใช้อยู่ก่อนแล้ว
                        สมัยพ่อขุนรามคำแหงยังไม่มีไม้หันอากาศ แต่ใช้พยัญชนะตัวเดียวกันหรือวรรคเดียวกันเขียนติดกัน เช่น อนน แทน อัน และ อฏฐ แทน อัฏฐ
                        พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้น โดยมิได้ทรงทราบว่ามีตัวหนังสือไทยเดิมอยู่ก่อน ข้อพิสูจน์ข้อหนังคือ ไทยอาหมและไทยคำที่ (ขำตี้ออกเสียงคำ อัน คล้ายกับคำ อาน แต่เสียงสระสั้นกว่า และออกเสียง อัก-อาก อังอาง อัด-อาด อับ-อาบ เหมือนกับตัวหนังสือของเราโดยออกเสียงคำตนสั้นกว่าคำหลังในคู่เดียวกัน แต่ออกเสียง อัว ว่า เอา เพราะถือหลักการที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า อัว คือ อาว ที่เสียงสระสั้นลง พ่อขุนรามคำแหงทรงใช้ อวา (คืออัวเป็นสระ อัว แทนที่จะเป็นสระ เอา หากคนไทยเคยอ่าน อัว เป็น เอา ซึ่งถูกตามหลักภาษาศาสตร์มาแต่เดิมแล้วคงยากที่จะเปลี่ยนแก้ให้อ่านเป็น อัว ซึ่งขัดกับความเคยชิน ฉะนั้นจึงน่าเชื่อว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ตัวหนังสือไทยขึ้นโดยมิได้ทรงทราบว่ามีตัวหนังสือไทยเดิมอยู่ก่อนแล้ว
                        พ่อขุนมังรายมหาราช (เป็นพระนามที่ถูกต้องของพระยาเม็งรายคงจะได้ดัดแปลงตัวอักษรมอญมากใช้เขียนหนังสือไทยในเวลาใกล้เคียง ดังตัวอย่างอักษรในจารึกลานทองสุโขทัย พ.๑๙๑๙
                        ส่วนไทยอาหมคงสร้างตัวหนังสือขึ้น ในระยะเวลาใกล้เคียงกับตัวหนังสือสุโขทัย ทั้งนี้เพราะคนไทยเริ่มจะสร้างอาณาจักรเป็นปึกแผ่นกว้างขวางออกไปในระยะนั้น อย่างไรก็ดี นักอ่านศิลาจารึกหลายท่านเชื่อว่า รูปตัวอักษรของไทยอาหมชี้ให้เห็นว่า อักษรไทยอาหมพึ่งเกิดใหม่หลังอักษรพ่อขุนรามคำแหงเป็นระยะเวลานานทีเดียว

คุณวิเศษของลายสือไทย
                        ๑ลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหราราชมีลักษณะพิเศษกว่าตัวอักษรของชาติอื่นซึ่งเป็นลูกศิษย์ของชาวอินเดียวกล่าวคือ ชาติอื่นขอยืมตัวหนังสือของอินเดียมาใช้โดยมิได้ประดิษฐ์พยัญชนะ และสระเพิ่มขึ้นให้พอกับเสียงพูดของคนในชาติ ยกตัวอย่างเช่น เขมรโบราณ เขียน เบก อ่านออกเสียงเป็น เบก แบก หรือ เบิก ก็ได้ ไทยใหญ่เขียน ปีน อ่านออกเสียเป็น ปีน เป็น หรือ แปน ก็ได้ เวลาอ่านจะต้องดูความหมายของประโยคก่อน จึงจะอ่านออกเสียให้ถูกต้อง
                        พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ตัวพยัญชนะสระอีกทั้งวรรณยุกต์ขึ้น เป็นต้นว่าได้เพิ่ม ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ สระอึ อือ แอ เอือ ฯลฯ ไม้เอก ไม้โท (ในรูปกากะบาทจนทำให้สามารถเขียนคำไทยได้ทุกคำ
                        อักขรวิธีที่ใช้ สามารถเขียน ตาก-ลม แยกออกไปจากตา-กลม ทำให้อ่านข้อความได้ถูกต้องไม่กำกวม กล่าวถือ ถ้าเป็นอักษรควบกล้ำให้เขียนติดกัน ส่วนตัวสะกดให้เขียนแยกห่างออกไป เช่น ตา-กลม เขียนเป็น ตา กลํ ส่วน ตาก-ลม เขียนเป็น ตา ก ลํ
                        ตัวหนังสือแบบพ่อขุนรามฯ ยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ นำสระมาเรียงอยู่ระดับเดียวกับพยัญชนะแบบเดียวกับตัวหนังสือของชาติตะวันตกทั้งหลาย น่าเสียดายที่สระเหล่านั้นถูกดึงกลับไปไว้ข้างบนตัวพยัญชนะบ้าง ข้างล่างบ้างในสมัยต่อมา ทั้งนี้เพราะคนไทยเคยชินกับวิธีเขียนข้างบนข้างล่างตามแบบขอมและอินเดีย ซึ่งเป็นต้นตำหรับดั้งเดิม ถ้ายังคงเขียนสระแบบพ่อขุนรามฯ อยู่ เราจะประหยัดเงินค่ากระดาษลงได้หนึ่งในสามทีเดียว เพราะทุกวันนี้จะต้องทิ้งช่องว่างระหว่างบรรทัดไว้เพื่อเขียนส่วนล่างของ ฏ ฐ สระ อุ อู วรรณยุกต์ และสระอือ รวมเป็นช่องว่างที่ต้องเตรียมไว้สี่ส่วนให้เขียนได้ไม่ซ้อนกัน ยิ่งมาถึงยุคคอมพิวเตอร์ การเก็บข้อมูล และการค้นหาข้อมูลจะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายได้มหาศาล แต่ตัวอักษรไทยในปัจจุบันบรรทัดเดียวคอมพิวเตอร์จะต้องกวาดผ่านตลอดบรรทัดไปถึง ๔ ครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรกกวาดพวกวรรณยุกต์ ครั้งที่สองกวาดพวกสระบน เช่น สระอี อึ ครั้งที่สามกวาดพวกพยัญชนะและครั้งที่สี่กวาดพวกสระล่าง คือ สระ อุ อู จึงทำให้เสียเวลาเป็นสี่เท่าของตัวอักษรของอังกฤษ ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์จะกวาดเพียงบรรทัดละครั้งเดียว ถ้าใช้อักขรวิธีแบบของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เครื่องคอมพิวเตอร์จะกวาดเพียงบรรทัดละสองครั้ง ลดเวลาและค่าใช้จ่ายลงได้กว่าครึ่ง ถ้ายิ่งดัดแปลงให้วรรณยุกต์ไปอยู่บรรทัดเดียวกับพยัญชนะเสียด้วย ก็จะลดค่าใช้จ่ายลงได้กว่าสี่เท่า
                        ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของตัวหนังสือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ พยัญชนะทุกตัวเขียนเรียงอยู่บรรทัดเดียวกัน ไม่มีตัวพยัญชนะซ้อนกันเหมือนตัวหนังสือของเขมร มอญ พม่า และไทยใหญ่ เช่น เขียน อฏฐ แทนที่จะเป็น อฏฐ  เซเดย์ได้กล่าวไว้ว่า การที่พระองค์ได้ทรงแก้ไขตัวอักษรของชาวสุโขทัยให้เรียงเป็นแนวเดียวกันได้นั้นเป็นการสำคัญยิ่ง แลควรที่ชาวสยามในปัจจุบันนี้ จะรู้สึกพระคุณ และมีความเคารพนับถือที่พระองค์ได้ทรงจัดแบบอักษรไทยให้สะดวดขึ้น ข้อนี้ให้มาก อนึ่ง ในสยามประเทศทุกวันนี้การคิดแบบเครื่องพิมพ์ดีดและการพิมพ์หนังสือได้เจริญรุ่งเรือง เป็นประโยชน์ยิ่งในวิชาความรู้แลทางราชการนับว่าเพราะพ่อขุนรามคำแหง ได้ทรงพระราชดำริเปลี่ยนรูปอักษรขอมและเรียงพยัญชนะเป็นแนวเดียวกันให้สะดวกไว้ ส่วนบรรดาประเทศที่ยังใช้วิธีซ้อนตัวพยัญชนะ เช่นประเทศเขมรและประเทศลาว การพิมพ์หนังสือของประเทศเหล่านั้นเป็นการยาก ไม่สู้จำเริญ แลยังไม้มีผู้ใดในชาตินั้น ๆ ได้คิดจะออกแบบพิมพ์ดีดสำหรับตัวอักษรของตน ๆ เลย (.๒๔๖๘)
                        ตัวอักษรทุกตัวสูงเท่ากัน หางจอง ศ ส ก็ขีดออกไปข้าง ๆ แทนที่จะสูงขั้นไปกว่าอักษรตัวอื่น ๆ หางของ ป และ ฝ สูงกว่าอักษรตัวอื่น ๆ เพียงนิดเดียว สระทุกตัวสูงเท่ากับพยัญชนะรวมทั้งสระ โอ ใอ และ ไอ ตัวอักษรแบบนี้เมื่อตีพิมพ์หางตัว ป และสระข้างล่าง ข้างบนจะไม่หักหายไปอย่างปัจจุบัน ไม่ต้องคอยตรวจซ่อมกันอยู่ตลอดเวลา
                        พ่อขุนรามคำหงมหาราชทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยให้เขียนได้ง่ายและรวดเร็ว พยัญชนะแต่ละตัวต่อเป็นเส้นเดียวตลอด ในขณะที่ตัวหนังสือขอมต้องเขียนสองหรือสามเส้นต่อพยัญชนะตัวหนึ่ง
                        ประการสุดท้าย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์รูปวรรณยุกต์ขึ้น ทำให้สามารถอ่านความหมายของคำได้ถูกต้องโดยไม่ต้องดูข้อความประกอบทั้งประโยค สมมติว่าเราเข้าใจภาษาไทยใหญ่เป็นอย่างดี แต่ถ้าจะอ่านภาษาไทยใหญ่ เขาเขียน ปีน คำเดียวอาจจะอ่านเป็น ปีน ปี่น ปี้น ปี๊น ปี๋น เป็น เป่น เป้น เป๊ เป๋น แปน แป่น แป้น แป๊น และ แป๋น รวมเป็น 15 คำ ถ้าไม่อ่านข้อความประกอบจะไม่ทราบว่าคำที่ถูกต้องเป็นคำใดกันแน่ แต่ตัวหนังสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อ่านได้เป็น ปีน แต่อย่างเดียว

 ที่มา : ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร  รวมบทความเรื่องภาษาและอักษรไทย กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร (2526) 

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

มารยาทในการฟัง

มารยาทในการฟัง ถือเป็นวัฒนธรรมประจำ ชาติอย่างหนึ่งที่ผู้ฟังควรยึดถือและปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม การมีมารยาทในการฟังย่อมแสดงให้เห็นว่า บุคคลนั้นได้รับการอบรมบ่มนิสัย ให้เป็นผู้มีวัฒนธรรมอันดีงาม การมีมารยาทที่ดี ถือเป็นการให้เกียรติต่อผู้พูด ให้เกียรติ ต่อสถานที่และให้เกียรติต่อชุมชน มารยาทเหล่านี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนควรยึดถือ และปฏิบัติโดยเคร่งครัด
ความหมายของการฟัง
        การฟัง หมายถึงการรับสาร หรือเสียงที่ได้ยินทางหู การฟังอย่างมีจุดมุ่งหมาย มีมารยาทและรู้จักพินิจพิเคราะห์เนื้อหาของสาร ที่รับว่ามีข้อเท็จจริง อย่างไร รู้จักจับใจความสำคัญ ใจความย่อย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้รับสาร ได้ประโยชน์จากการฟังอย่างเต็มที่
การฟังที่ดี

        หลักการฟังที่ดี มีดังนี้
การฟังต้องมีจุดมุ่งหมาย
        ในการฟังเรื่องใด ๆ ก็ตาม ผู้ฟังควรตั้งจุดมุ่งหมาย ในการฟัง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลัก 3 ประการ คือ
        1) ฟังเพื่อความรู้ ได้แก่ การฟังเรื่องราวที่เป็นวิชาการ ข่าวสารและข้อแนะนำต่าง ๆ การฟังเพื่อความรู้ จำเป็นต้องฟังให้เข้าใจและจดจำสาระสำคัญให้ได้
        2) ฟังเพื่อความเพลิดเพลิน คือ การฟังเรื่องราวที่สนุกสนานเพลิดเพลิน ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียดจากภารกิจการงานและสิ่งแวดล้อม
        3) ฟังเพื่อให้ได้รับคติหรือความจรรโลงใจ คือ การฟังเรื่องที่ทำให้เกิดแนวคิด และสติปัญญา เกิดวิจารณญาณ ขัดเกลาจิตใจให้มีคุณธรรม การฟังประเภทนี้ต้องรู้จักเลือกฟัง และเลือกเชื่อในสิ่งที่ถูกที่ควรซึ่งจะช่วยให้ผู้ฟัง มีคติในการดำเนินชีวิตไปในทางดีงาม และรู้จักสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อสังคม
        การฟังทั้ง 3 ประการ อาจรับฟังได้จากสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ การประชุม ปาฐกถา ฯลฯ นอกจากนี้การฟังในแต่ละครั้ง ผู้ฟังอาจได้รับประโยชน์ทั้ง 3 ด้าน หรือด้านใด ด้านหนึ่ง เฉพาะด้านซึ่งเป็นการฟังเพื่อประโยชน์ของตนเอง
การฟังต้องมีความพร้อม
        ซึ่งหมายถึงความพร้อมทางกาย คือมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ความพร้อมทางใจ คือมีจิตใจพร้อมที่จะรับฟัง ไม่วิตกกังวลในเรื่องอื่น และมีความพร้อม ทางสติปัญญา หมายถึง มีการเตรียมตัวที่จะใฝ่หาความรู้เป็นพื้นฐาน ก่อนที่จะรับฟังเพราะเรื่องบางเรื่องอาจต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์เดิม หรือคำศัพท์ ทางวิชาการ เป็นต้น ถ้าผู้ฟัง ไม่มีความรู้มาก่อน อาจฟังไม่รู้เรื่องหรือจับใจความไม่ได้ ซึ่งทำให้เกิดความเบื่อหน่ายไม่ได้ประโยชน์จากการรับฟังเท่าที่ควร
การฟังต้องมีสมาธิ
        ในการฟังหรือการกระทำสิ่งใดก็ตาม จำเป็นต้องมีสมาธิ คือมีจิตใจจดจ่อในเรื่องนั้น ๆ ในการฟัง หากผู้ฟัง ฟังอย่างใจลอย หรือไม่ตั้งใจฟังเท่าที่ควร ก็ไม่สามารถจับใจความที่ฟังได้หมดครบถ้วน อาจทำให้เข้าใจไขว้เขว หรือไม่ได้เนื้อหาสมบูรณ์ การมีสมาธิในการฟังผู้ฟังต้องฝึกฝนตนเองให้รู้จักควบคุมจิตใจ โดยเอาใจจดจ่อในเรื่องที่ฟังเป็นพิเศษ
การฟังต้องมีความกระตือรือร้น
        คือสนใจและเล็งเห็นประโยชน์จากการฟังอย่างแท้จริง ไม่ใช่ฟังด้วยจำใจหรือถูกบังคับ
การฟังต้องไม่มีอคติ
        การมีอคติ ได้แก่ การลำเอียง อาจจะเป็นลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะโกรธ ลำเอียงเพราะหลง การลำเอียงทำให้แปลเจตนาในการฟังผิดความหมาย หรือคลาดเคลื่อนจากที่เป็นจริงได้ ถ้าผู้เรียนยึดถือ หลักการฟังทั้ง 5 ข้อนี้ ก็จะเป็นผู้รับสารด้วยการฟัง ได้ครบถ้วนตามความมุ่งหมาย

มารยาทในการฟัง
        ผู้มีมารยาท ในการฟังควรปฏิบัติตน ดังนี้
        1. เมื่อฟังอยู่เฉพาะหน้าผู้ใหญ่ ควรฟังโดยสำรวมกิริยามารยาท ฟังด้วยความสุภาพเรียบร้อย และตั้งใจฟัง
        2. การฟังในที่ประชุม ควรเข้าไปนั่งก่อนผู้พูดเริ่มพูด โดยนั่งที่ด้านหน้าให้เต็มก่อนและควรตั้งใจฟังจนจบเรื่อง
        3. จดบันทึกข้อความที่สนใจหรือข้อความที่สำคัญ หากมีข้อสงสัยเก็บไว้ถามเมื่อมีโอกาสและถามด้วยกิริยาสุภาพ เมื่อจะซักถามต้องเลือกโอกาสที่ผู้พูดเปิดโอกาสให้ถาม หรือยกมือขึ้นขออนุญาตหรือแสดงความประสงค์ในการซักถาม ถามด้วยถ้อยคำสุภาพ และไม่ถามนอกเรื่อง
        4. มองสบตาผู้พูด ไม่มองออกนอกห้องหรือมองไปที่อื่น อันเป็นการแสดงว่าไม่สนใจเรื่องที่พูด และไม่เอาหนังสือไปอ่านขณะที่ฟัง หรือนำอาหารเครื่องดื่มเข้าไปรับประทานระหว่างฟัง
        5. ฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเองกับผู้พูด แสดงสีหน้าพอใจในการพูด ไม่มีแสดงกิริยาก้าวร้าว เบื่อหน่าย หรือลุกออกจากที่นั่งโดยไม่จำเป็นขณะฟัง
        6. ฟังด้วยความสุขุม ไม่ควรก่อความรำคาญให้บุคคลอื่น ควรรักษามารยาทและสำรวมกิริยา ไม่หัวเราะเสียงดังหรือกระทืบเท้าแสดงความพอใจหรือเป่าปาก
        7. ฟังด้วยความอดทนแม้จะมีความคิดเห็นขัดแย้งกับผู้พูดก็ควรมีใจกว้างรับฟังอย่างสงบ
        8. ไม่พูดสอดแทรกขณะที่ฟัง ควรฟังเรื่องให้จบก่อนแล้วค่อยซักถามหรือแสดงความคิดเห็น
        9. ควรให้เกียรติวิทยากรด้วยการปรบมือ เมื่อมีการแนะนำตัวผู้พูด ภายหลังการแนะนำ และเมื่อวิทยากร พูด จบ

ประโยชน์ของการฟัง
         ประโยชน์ส่วนตน
        1.1 การฟังเป็นเครื่องมือของการเขียน ผู้ที่เรียนหนังสือได้ดีต้องมีการฟังที่ดีด้วย คือ ต้องฟังคำอธิบายให้รู้เรื่องและจับใจความสำคัญให้ได้จึงจะทำให้การเรียนมี ประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการฟังคำอธิบายในห้องเรียน การฟังอภิปราย การฟังบทความ ล้วนแต่ช่วยพัฒนาสติปัญญาทำให้เกิดความรู้และเกิดความเฉลียวฉลาดจากการฟัง
        1.2 การฟังช่วยให้ผู้ฟังพัฒนาความสามารถในการพูด พัฒนาความสามารถในการใช้ภาษา เพราะการฟังทำให้ผู้ฟังมีความรู้กว้างขึ้นและมีประสบการณ์มากขึ้น
        1.3 การฟังช่วยปูพื้นฐานความคิดที่ดีให้กับผู้ฟัง ซึ่งจะได้จากการฟังเรื่องราวที่มีคุณค่ามีประโยชน์จากผู้อื่น ช่วยพัฒนาสติปัญญาแก่ผู้ฟัง การได้รับข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ ๆ ได้
        1.4 การฟังช่วยให้ผู้มีมารยาทในการฟัง สามารถเข้าสังคมกับผู้อื่นได้เช่น รู้จักฟังผู้อื่น รู้จักซักถามโต้ตอบได้ตามกาลเทศะ

         ประโยชน์ทางสังคม
        2.1 การฟังทำให้เกิดความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง เช่น การฟังประกาศ ฟังปราศรัย ฟังการอภิปราย เป็นต้น
        2.2 การฟังช่วยให้ประพฤติดี ปฏิบัติให้สังคมเป็นสุข เช่น ฟังธรรม ฟังเทศนา ฟังคำแนะนำ การอบรม เป็นต้น

การพัฒนาสมรรถภาพการฟัง
        1. สร้างความสนใจและความต้องการที่จะฟัง ผู้ฟังที่ดีต้องให้ความสนใจกับเรื่องที่ฟังแม้ว่าเรื่องที่ฟังจะ ไม่ตรงกับความสนใจของตนเองก็ตาม ผู้ฟังต้องรู้หัวข้อเรื่องรวมทั้งจุดประสงค์ว่าฟังเพื่ออะไร
        2. ฟังด้วยความตั้งใจ เป็นการฟังอย่างมีสมาธิ จิตใจจดจ่อกับเรื่องที่ฟัง
        3. จับใจความสำคัญของเรื่องและคิดวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องราวที่ฟัง
   1. จับใจความให้ได้ว่า เรื่องที่ฟังเป็นเรื่องอะไร เกิดที่ไหน เรื่องเป็นอย่างไร
   2. วิเคราะห์วิจารณ์เรื่องราวที่ฟังว่าเป็นอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุ ผลเป็นอย่างไร
   3. แยกแยะข้อความว่าตอนใดเป็นข้อเท็จจริง ตอนใดเป็นข้อคิดเห็น
   4. พิจารณาจุดมุ่งหมายในการพูดของผู้พูด รวมทั้งเหตุผลที่นำมาสนับสนุนการพูด
        ในการฟัง ดู และพูด เรื่องราวต่างๆ จากการผ่านสื่อใดหรือโดยใครก็ตาม ผู้ฟัง ผู้ดูและผู้พูด จะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ว่าเป็นไปได้อย่างไร แค่ไหนเพราะถ้าเชื่อทุกเรื่อง บางครั้งอาจจะตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่ปรารถนาดีได้ง่าย ผู้ฟังต้องวิเคราะห์จุดประสงค์ในการพูดว่าผู้พูดต้องการให้อะไรกับผู้ฟัง ข้อความตอนใดเป็นข้อเท็จจริง ตอนใดเป็นข้อคิดเห็น ข้อเท็จจริง มีหลักฐานเป็นที่ยอมรับหรือไม่ ข้อคิดเห็นนั้นมีเหตุผลมีความเป็นไปได้หรือน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

ที่มา: คลังปัญญาไทย, www.panyathai.or.th
มารยาทในการพูด

ความสำคัญของการสื่อสารด้วยการพูด

     การพูดมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์เป็นอันมากไม่ว่าจะอยู่ที่ใดประกอบกับกิจการงานใดหรือคบหา สมาคมกับผู้ใด ผู้ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจการงาน การคบหาสมาคมกับผู้อื่นตลอดจนการทำประโยชน์แก่สังคม ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพในการพูดทั้งสิ้น
การพูดมีความสำคัญต่อตนเอง เพราะถ้าผู้พูดมีศิลปะในการพูดก็จะเป็นคุณแก่ตนเอง ส่วนในด้านสังคมนั้น เนื่องจากเราต้องคบหาสมาคมและพึ่งพาอาศัยกัน การที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขนั้นจำเป็นต้องเป็นคนที่ “พูดดี” คือพูดไพเราะ น่าฟัง และพูดถูกต้องด้วย
มารยาทในการพูด
     การพูดของคนเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ รู้จักกาลเวลา และที่สำคัญต้องคำนึงถึงมารยาทที่ดีในการพูดด้วย มารยาทในการพูดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
     1. มารยาทในการพูดระหว่างบุคคล
     2. มารยาทในการพูดในที่สาธารณะ
มารยาทในการพูดระหว่างบุคคล มีดังนี้
     1. เรื่องที่พูดควรเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่าย มีความสนใจและพอใจร่วมกัน
     2. ไม่พูดเรื่องของตนเองมากจนเกินไป ควรฟังในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งพูด ไม่สอดแทรกเมื่อเขาพูดยังไม่จบ
     3. พูดตรงประเด็น อาจออกนอกเรื่องบ้างพอผ่อนคลายอารมณ์
     4. เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่บังคับให้ผู้อื่นเชื่อหรือคิดเหมือนตน
ฯลฯ

มารยาทในการพูดในที่สาธารณะ
     การพูดในที่สาธารณะต้องรักษามารยาทให้มากกว่าการพูดระหว่างบุคคล เพราะการพูดในที่สาธารณะนั้น ย่อมมีผู้ฟังซึ่งมาจากที่ต่าง ๆ กัน มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ และพื้นฐานความรู้ ความสนใจและรสนิยมต่างกันไป มารยาทในการพูดระหว่างบุคคลอาจนำมาใช้ได้และควรปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้
     1. แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยเหมาะแก่โอกาสและสถานที่
     2. มาถึงสถานที่พูดให้ตรงเวลาหรือก่อนเวลาเล็กน้อย
     3. ก่อนพูดควรแสดงความเคารพต่อผู้ฟังตามธรรมเนียมนิยม
     4. ไม่แสดงกิริยาอาการอันไม่สมควรต่อหน้าที่ประชุม
     5. ใช้คำพูดที่ให้เกียรติแก่ผู้ฟังเสมอ
     6. ไม่พูดพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัวของบุคคลอื่นในที่ประชุม
     7. ไม่พูดหยาบโลนหรือตลกคะนอง
     8. พูดให้ดังพอได้ยินทั่วกันและไม่พูดเกินเวลาที่กำหนด
     การสื่อสารด้วยการพูดไม่ว่าจะเป็นการพูดกับคนเพียงคนเดียวหรือพูดกับคนจำนวนมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้พูดทุกคนต้องมีมารยาท ถ้าขาดหรือละเลยต่อมารยาทในการพูด แล้วอาจทำให้การพูดประสบความล้มเหลว หรือไม่ประสบความสำเร็จได้

ข้อควรคำนึงในการสื่อสารด้วยการพูด
     การพูดจะสัมฤทธิผลหรือไม่เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการที่ผู้พูดได้วิเคราะห์องค์ประกอบสำคัญในการพูดให้ถ่องแท้หรือไม่ มีการเตรียมพร้อมเพียงใดก่อนที่จะพูด ฉะนั้นการพูดจึงมีข้อควรคำนึงดังนี้
การพูดให้เหมาะสมกับบุคคล
     ต้องวิเคราะห์ในเรื่องต่อไปนี้ คือ วัย เพศ ระดับการศึกษา อาชีพ ความสนใจพิเศษเพื่อเตรียมเรื่องที่จะพูดได้อย่างเหมาะสม
การพูดให้เหมาะกับกาลเทศะ
     ควรพิจารณาว่าจะพูดในโอกาสใด การพูดนั้นเป็นทางการมากน้อยแค่ไหน
การพูดให้ผู้อื่นเข้าใจตรงตามความประสงค์
     ควรใช้ภาษาบ่งบอกความต้องการหรือความมุ่งหมายให้ชัดเจน หลีกเลี่ยงการตีความหลายแง่หลายมุม
การพูดสรุปใจความสำคัญจากเรื่องที่ฟังหรืออ่าน
     เป็นการพัฒนาการใช้ภาษาให้สัมพันธ์กันทุกด้าน และอาศัยความสามารถในการสรุปความจากเรื่องที่ฟังหรืออ่านได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับสารเข้าใจเจตนาของผู้ส่งสารได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว
การพูดแสดงความคิดเห็น
     เป็นการใช้ทักษะ การฟัง การอ่าน การพูด และการคิดให้สัมพันธ์กัน ต้องอาศัยการฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ เพราะการพูดแสดงความคิดเห็นผู้พูดต้องใช้ทั้งความรู้ ความคิด เหตุผลหรือหลักการต่าง ๆ หลายอย่างประกอบกัน ความคิดเห็นจึงจะมีคุณค่าน่าเชื่อถือ

ขอบคุณบทความและภาพจาก :

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

การเขียนจดหมาย

การเขียนจดหมาย
ในปัจจุบัน โลกมีการพัฒนาการสื่อสารทางโทรคมนาคมได้สะดวก และรวดเร็ว แต่การสื่อสารอีกชนิดที่ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การเขียนจดหมาย เพราะสามารถเขียนได้ทุกเวลา ทุกโอกาส เก็บไว้ได้นาน จดหมายของบุคคลสำคัญจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในอนาคต และจดหมายที่เขียนดีมีคุณค่าก็อาจเป็นวรรณกรรมได้
หลักการเขียนจดหมาย
การเขียนจดหมายควรยึดหลักสำคัญ ดังต่อไปนี้

ขนาดซอง

การใช้ซองขนาดมาตรฐาน ปัจจุบันที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งจะมีซองจดหมายจำหน่าย นับว่าเป็นซองที่มีขนาดเหมาะสม โดยทั่วไปมี ๒ แบบ ดังนี้
      ๑.  ซองสั้น มีขนาด ๓.๕ x ๖ นิ้ว ถึง ๔.๕ x ๗ นิ้ว
      ๒.  ซองยาวมีขนาด ๔.๒๕ x ๙ นิ้ว

การจ่าหน้าซอง
มีหลักการ ดังนี้
๑  ที่อยู่ของผู้รับ ต้องเรียงลำดับจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่ ได้แก่
   -  ที่ นามสกุลของผู้รับ ถ้าเป็นจดหมายสำคัญ เช่น มีธนาณัติสอดอยู่ด้วย ต้องระบุคำนำหน้าชื่อผู้รับ
   -  บ้านเลขที่ ซอย หรือตำบล
   -  ถนนที่ตั้ง
   -  ตำบลหรือเเขวง
   -  อำเภอหรือเขต
   -  จังหวัดและรหัสไปรษณีย์
๒. ที่อยู่ของผู้ส่ง เรียงลำดับเช่นเดียวกับผู้รับ จะเขียนไว้ด้านบนซ้ายของตนเอง
๓. คำขึ้นต้น
   -  ถ้าเป็นจดหมายส่วนตัว อาจใช้คำว่า "กรุณาส่ง" หรือ "นามผู้รับ"
   -  ถ้าเป็นจดหมายราชการหรือจดหมายธุรกิจนิยมใช้ "เรียน"
   -  จดหมายถึงพระสงฆ์ทั่วไปใช้ "นมัสการ"
๔. เเสตมป์ ต้องติดสเเตมป์ตามราคาที่กรมไปรษณีย์ฯ กำหนด เพราะถ้าติดไม่ครบ ผู้รับจะถูกปรับเป็น ๒ เท่าของราคาเเสตมป์ที่ขาดไป
การเขียนตามเเบบแผนที่นิยม
ลักษณะการเขียนจดหมายตามเเบบเเผนที่นิยม ได้แก่
๑.  คำขึ้นต้น ต้องเหมาะแก่ฐานะและตำแหน่งหน้าที่
๒.  การวางรูปแบบจดหมาย ควรจัดวางให้มีสัดส่วนพอเหมาะกับหน้ากระดาษ โดยเว้นด้านหน้าประมาณ ๑ นิ้ว และเว้นด้านหลังประมาณครึ่งนิ้ว
๓.  สำนวนภาษาที่ใช้ในการเขียน ต้องคำนึงถึงความสุภาพ เขียนถูกต้องเหมาะแก่ฐานะ และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
๕.  ถ้าต้องการอวยพรให้เพื่อนหรือญาติผู้ใหญ่ในตอนท้ายของจดหมาย ควรอ้างถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ เพื่อทำให้คำอวยพรมีความขลังและสละสลวย
๖. คำลงท้าย ต้องใช้ให้ถูกต้องเเละเหมาะแก่ฐานะและบุคคล
รูปแบบของจดหมาย
๑.  รูปแบบของการวางรูปจดหมาย
     ๑.๑  ที่อยู่ของผู้เขียน อยู่ตรงมุมบนขวาของหน้ากระดาษ โดยเริ่มเขียนจากกึ่งกลางหน้ากระดาษ โดยเริ่มเขียนจากประมาณกึ่งกลางหน้ากระดาษ
     ๑.๒  วันเดือนปี เขียนเยื้องที่อยู่ผู้เขียนมาข้างหน้าเล็กน้อย
     ๑.๓  คำขึ้นต้น อยู่ด้านซ้ายห่างจากขอบกระดาษประมาณ ๑ นิ้ว และเป็นเเนวชิดด้านซ้ายสุดของเนื้อความ
     ๑.๔  เนื้อความ เริ่มเขียนโดยย่อหน้าเล็กน้อย และควรขึ้นย่อหน้าใหม่เมื่อขึ้นเนื้อความใหม่ นอกจากนี้ต้องเว้นวรรคตอนให้ถูกต้องด้วย
     ๑.๕  คำลงท้าย อยู่ตรงกับวันเดือนปีที่เขียน
     ๑.๖  ชื่อผู้เขียน เยื้องลงมาทางขวามือ ถ้าเขียนจดหมายถึงบุคคลที่ไม่คุ้ยเคย ควรวงเล็บชื่อที่เขียนเป็นตัวบรรจงด้วย ถ้าเป็นจดหมายราชการต้องบอกยศตำแหน่งของผู้ส่งด้วย
รูปแบบของจดหมาย
                                                                                                                              (ที่อยู่ผู้เขียน)......................
                                                      (วันที่)......................(เดือน)....................(พ.ศ.)......................
(คำขึ้นต้น)...................................
(เนื้อความ)................................................................................................................................................
.................................................................................................................................................................
.................................................................................................................................................................
.................................................................................................................................................................
                                                      (คำลงท้าย)...........................................
                                                       ชื่อผู้เขียน)..........................
รูปแบบของคำขึ้นต้น สรรพนาม คำลงท้าย
ในการเขียนจดหมายต้องคำนึงถึงการเขียนคำขึ้นต้น คำลงท้าย และสรรพนามให้ถูกต้อง ดังนี้
ผู้รับ คุณพ่อ,คุณเเม่
คำขึ้นต้น กราบเท้า...ที่เคารพอย่างสูง
สรรพนาม (ผู้เขียน) ลูก, หนู, ผม, กระผม, ดิฉัน หรือใช้ชื่อเล่นเเทน
สรรพนาม (ผู้รับ) คุณพ่อ คุณเเม่
คำลงท้าย ด้วยความเคารพรักอย่างสูง
ผู้รับ ญาติผู้ใหญ่
คำขึ้นต้น กราบเท้า....ที่เคารพอย่างสูง หรือ กราบเรียน...ที่เคารพอย่างสูง
สรรพนาม (ผู้เขียน) หลาน, ผม, กระผม, ดิฉัน, หนู, หรือใช้ชื่อเล่นแทน
สรรพนาม (ผู้รับ) คุณปู่, คุณย่า, คุณตา, คุณยาย, คุณลุง, คุณป้า, คุณน้า, คุณอา
คำลงท้าย ด้วยความเคารพอย่างสูง
ผู้รับ พี่หรือเพื่อนที่อาวุโสกว่า
คำขึ้นต้น เรียนคุณพี่ที่เคารพ หรือ กราบ...ที่เคารพ
สรรพนาม (ผู้เขียน) น้อง, ผม, ดิฉัน, หนู, หรืออาจใช้ชื่อเล่นเเทน
สรรพนาม (ผู้รับ) คุณพี่, คุณ ...
คำลงท้าย ด้วยความเคารพ, ด้วยความเคารพรัก
ผู้รับ น้อง หรือเพื่อน
คำขึ้นต้น ...น้องรัก หรือ คุณ ... ที่รัก หรือ (ชื่อเล่น) ที่รัก
สรรพนาม (ผู้เขียน) ฉัน พี่
สรรพนาม (ผู้รับ) เธอ, คุณ, น้อง
คำลงท้าย ด้วยความรัก, ด้วยความรักยิ่ง, รักเเละคิดถึง
ผู้รับ บุคคลทั่วไป
คำขึ้นต้น เรียนคุณ...ที่นับถือ หรือ เรียนผู้จัดการบริษัท ... จำกัด
สรรพนาม (ผู้เขียน) ผม, ดิฉัน
สรรพนาม ผู้รับ) คุณ, ท่าน
คำลงท้าย ของเเสดงความนับถือ
ผู้รับ พระภิกษุทั่วไป
คำขึ้นต้น นมัสการ...
สรรพนาม (ผู้เขียน) ผม,กระผม, ดิฉัน
สรรพนาม (ผู้รับ) ท่าน, พระคุณท่าน, ใต้เท้า, พระคุณเจ้า
คำลงท้าย ขอนมัสการมาด้วยความเคารพอย่างสูง

ตัวอย่าง จดหมายลาครู
                                                                                                                        ๑๓๒/๑๒ ถนนพระรามที่ ๖
                                                                                                                         เเขวงสามเสนใน เขตพญาไท
                                                                                                                         กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
                                                                  
                                                                    ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๐

เรียน อาจารย์ที่ปรึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖/๑

                   เนื่องจากดิฉันได้ลื่นหกล้มที่บ้าน  ตั้งเเต่เย็นวันเสาร์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๐ ดิฉันมีอาการเจ็บปวด และข้อเท้าบวมมาก วันรุ่งขึ้นได้ไปตรวจที่โรงพยาบาล หมอบอกว่าเอ็นข้อเท้าขาด ขอให้หยุดเดิน และพักรักษาตัวประมาณ ๑ สัปดาห์
                   ดิฉันจึงเรียนมาเพื่อขออนุญาตลาป่วย เป็นเวลา ๓ วัน ตั้งเเต่วันที่ ๑๘ สิงหาคม ถึง วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๐ เมื่อครบกำหนดเเล้ว ดิฉันจะมาเรียนตามปกติ
 
                                                                   ด้วยความเคารพอย่างสูง
                                                                      พิริยา ราชธารินทร์

                                            ขอรับรองว่าข้อความที่เด็กหญิงพิริยาเขียนเป็นความจริงทุกประการ
                                                                 (นายอารยะ ราชธารินทร์)
                                                                            ผู้ปกครอง


ตัวอย่าง
 จดหมายถึงญาติผู้ใหญ่

                                                                                                                      โรงเรียนเลิศวิทย์ อ.ปากเกร็ด
                                                                                                                       จ. นนทบุรี ๑๑๑๒๐

                                                                    ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐

กราบเท้าคุณพ่อคุณเเม่ที่เคารพรักอย่างสูง
         
          ผมได้รับเงิน ๕๐๐ บาท ที่คุณพ่อกรุณา ๒๐๐ บาท ส่วนอีก ๓๐๐ บาท ผมนำมารวมไว้ในค่าใช้จ่ายประจำวันครับ
          ผมจะเล่าเรื่องการไปเที่ยวเขาเขียวที่จังหวัดชลบุรรีให้คุณพ่อคุณเเม่ฟังนะครับ คณะของเราออกเดินทางจากโรงเรียนตั้งเเต่ ๖ โมงเช้า เพื่อมุ่งหน้าไปจังหวัดชลบุรี อาจารย์ผู้ดูแลบอกเราว่า การที่เราออกเดินทางเเต่เช้านี้เพราะรถไม่ติด เเละเราจะได้ถือโอกาสดูพระอาทิย์เเรกขึ้นด้วย
          เราไปถึงชลบุรี ๗ โมงกว่าๆ เราแวะกินข้าวเช้ากันที่ตลาดหนองมน หลังจากนั้น เราก็มุ่งหน้าไปเขาเขียวซึ่งเป็นสวนสัตว์เปิดเลยทีเดียว
          ที่เรียกว่าสวนสัตว์เปิดนั้น คงเป็นเพราะเขาไม่ได้จับสัตว์ขังไว้ในกรงเหมือนเขาดินวนา เเต่เขาปล่อยให้สัตว์ดำรงชีวิตค่อนข้างเสรีอยู่ในพื้นที่กว้างขวาง อย่างนกก็ทำกรงใหญ่มากๆ เป็นตาข่ายคลุมไว้เท่านั้น ข้างในตาข่ายก็มีต้นไม้และธรรมชาติต่างๆ เหมือนในป่า ผมได้เห็นหมีตัวใหญ่กำลังสอนลูกของมันให้ตะปบเหยื่อ ผมยังคิดถึงแมวที่บ้านเราเลยครับ เเมวมันสอนลูกของมันให้จับหนูอย่างนี้เลยครับ
          ขากลับผมเพิ่งสังเกตเห็นสองข้างทางบริเวณเขาเขียว มีต้นไม้ร่มครึ้มพอสมควร อาจารย์เล่าว่าสมัยก่อนต้นไม้มีมากกว่านี้อีก ผมคิดว่าถึงเวลาที่เเล้วที่คนไทยจะต้องช่วยกันรักษาป่าและสัตว์ป่า เพราะที่ไหนมีต้นไม้ ที่นั่นก็มีอากาศบริสุทธิ์สดชื่นดีจริงๆ เลยครับ
          ผมต้องกราบขอบพระคุณคุณพ่ออีกครั้งที่กรุณาให้ผมไปทัศนศึกษาในครั้งนี้ ทำให้ผมได้เห็นสิ่งแปลกๆ และได้พบธรรมชาติอันน่าหวงแหนของเราครับ
                                         
                                                                     ด้วยความเคารพอย่างสูง
                                                                        ภาณุวัฒน์ กีรติกุญชร

ตัวอย่าง จดหมายถึงเพื่อน

                                                                                                              ๖๓ หมู่ ๑ ต.ตาคลี
                                                                                                               อ. ตาคลี จ.นครสวรรค์
                                                                                                               ๖๐๑๔๐

                                                                       ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๐

กบเพื่อนรัก

         ปีใหม่นี้คิดว่าจะได้เจอกบที่บ้าน เลยไม่ได้เขียนจดหมายมาก่อน แต่เมื่อไปที่บ้านกบแล้วจึงทราบว่า กบมีกิจกรรมที่ต้องทำอยู่กรุงเทพฯ เราเลยเขียนจดหมายมาเพื่อจะถือโอกาสสวัสดีปีใหม่ด้วย
         เราได้รับจดหมายจากแหววเมื่อวานนี้เอง แหววเล่าว่าเขาเขียนเรียงความเรื่อง "พ่อของลูก" ได้รับรางวัลที่ ๑ ด้วยนะ เราก็อดคิดถึงกบไม่ได้ เพราะกบเขียนเรียงความเก่งไม่เเพ้เเหวว ไม่รู้ว่าจะไปเป็ฯที่หนึ่งในกรุงด้วยหรือเปล่า
         ตอนนี้เเถวบ้านเรามีรถบรรทุกพืชไร่วิ่งกันทั้งวันทั้งคืน ฝุ่นค่อนข้างมาก เเต่มันก็เป็นสิ่งจำเป็นที่พวกเราต้องอดทนกันมานาน กบคงไม่ต้องเจอฝุ่นอย่างบ้านเราใช่ใหม เเต่ที่กบเคยเล่าว่ากรุงเทพฯ ไม่มีฝุ่นมากอย่างบ้านเราก็จริง แต่มีสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น คือ มีควันจากท่อไอเสียไง เราก็เลยพยายามปลอบใจตัวเองว่าถึงบ้านเราจะมีฝุ่นเเต่ก็เป็นฝุ่นที่มีอันตรายน้อย
         เรายังไม่มีอะไรจะเล่ามากนั้น ช่วงนี้ก็เตรียมตัวดูหนังสือสอบ เพราะจะต้องสอบระหว่างภาคในอีกไม่กี่วันนี้เเล้ว เราหวังว่ากบก็คงกำลังเตรียมตัวอย่างหนักใช่ไหม กบเคยบอกเราว่า กบต้องพยายามเรียน เพราะเรามาจากต่างจังหวัดอย่าให้ใครดูถูกได้ใช่ไหม
         สุดท้ายนี้ เราขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย โปรดดลบันดาลให้กบมีความสุข เรียนเก่ง และสอบได้คะเเนนดีๆ นะจ๊ะ

                                                                          รักและคิดถึง
                                                                        ยลรตี สิริวรวิทย์


ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ. ภาษาไทย ป.๖. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.